รายงานเรื่อง ความพร้อมเพื่อรับมือกับโรคมะเร็ง ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก: การขับเคลื่อนสู่มาตรการควบคุมโรคมะเร็งฉบับสากล ได้วิเคราะห์ความพร้อมของ 10 ประเทศในเอเชียแปซิฟิก คือ ประเทศไทย ออสเตรเลีย จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ และเวียดนาม โดยเป็นการสำรวจ เก็บตัวอย่างและวิเคราะห์ผลโดยผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็งและระบบสาธารณสุขจากระดับภูมิภาค ซึ่งเจาะประเด็นในสามด้านสำคัญ คือ นโยบายและการวางแผน การให้บริการและรักษา และระบบสุขภาพและการสนับสนุนจากรัฐบาล โดยผลการสำรวจเผยว่า ประเทศออสเตรเลียได้คะแนนรวมสูงสุด ในขณะที่ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 6 จากทั้งหมดสิบอันดับ
ผลสำรวจยังระบุลำดับคะแนนที่น่าสนใจจากกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง (upper-middle income) อย่างประเทศไทยและมาเลเซีย ที่ได้คะแนนด้านมาตรการในวางแผนรับมือกับโรคมะเร็งได้ดีมากจนอยู่ในอันดับต้น ๆ ของดัชนี อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานตามแผนการที่วางไว้อย่างมีประสิทธิภาพยังเป็นปัญหาสำคัญที่หลายประเทศต้องหาทางรับมือ
“เราเล็งเห็นแนวโน้มที่ดี หลังประเทศในเอเชียแปซิฟิกได้หันมาให้ความสนใจในการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับโรคมะเร็งในด้านนโยบายมากขึ้น และได้มีการสร้างผลงานให้เห็นในเชิงบวก” เรเชล ฟริซเบิร์ก หัวหน้าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกจาก โรช ฟาร์มาซูติคอลส์ กล่าว “อย่างไรก็ตาม ทุกฝ่ายจำเป็นต้องร่วมมือกันในการผลักดันและพัฒนานโยบาย เพื่อหาวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพให้แก่คนไข้ โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โรคติดเชื้อ COVID-19 ที่ได้ส่งผลกระทบต่อการรักษาของโรคมะเร็งในทุกๆ ด้าน”
ดร. ศุลีพร แสงกระจ่าง รองผู้อำนวยการด้านพัฒนาระบบสุขภาพ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า “ประเทศไทยได้คะแนนสูงอยู่ในอันดับสี่ ของการเป็นประเทศที่มีนโยบายและแผนการเตรียมพร้อมรับมือกับโรคมะเร็งดีที่สุด เมื่อมองลึกลงไปถึงที่มาของคะแนน ไทยยังได้รับคะแนนสูงที่สุดจากการเป็นประเทศที่สามารถดำเนินการตามหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นอันดับหนึ่งร่วมกับประเทศออสเตรเลีย เกาหลีใต้และญี่ปุ่น”
ปัจจุบัน โรคมะเร็ง ยังคงเป็นสาเหตุหลักที่คร่าชีวิตของผู้คนจำนวนมากในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยมีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2573 ภูมิภาคนี้จะมีผู้ป่วยโรคมะเร็งเพิ่มขึ้นถึง 35 เปอร์เซ็นต์ และมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคนี้เพิ่มขึ้น 40 เปอร์เซ็นต์[1] ถึงแม้ว่าจะมีนโยบายการรับมือและสถาบันวิจัยโรคมะเร็งเกิดขึ้นมากมาย แต่อัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นและการตรวจพบโรคมะเร็งเมื่อโรคมีการลุกลามไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายแล้ว ยังเป็นปัญหาสำคัญของเกือบทุกประเทศในภูมิภาค โดยสามอันดับแรกของโรคมะเร็งที่พบผู้เสียชีวิตมากที่สุดในประเทศไทย เมื่อปี 2561 คือ มะเร็งปอด ตามมาด้วย มะเร็งตับ และมะเร็งเต้านม
ด้านนโยบายและการวางแผน
ประเทศไทยมีแผนการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งแห่งชาติที่เข้มแข็ง ทั้งยังเป็นประเทศที่อยู่อันดับหนึ่งด้านงานวิจัยเรื่องโรคมะเร็งจากการที่มีสถาบันมะเร็งแห่งชาติ มีการสร้างความตระหนักรู้เรื่องการดูแลรักษาสุขภาพและลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในหลายพื้นที่ให้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังมีขั้นตอนการติดตามและประเมินผลของการวางแผนที่มีประสิทธิภาพ
สิ่งที่ประเทศไทยควรให้ความสำคัญมากขึ้นเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด คือ การสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องโดยเน้นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางและการจัดสรรงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการสร้างทะเบียนมะเร็งระดับประชากร ซึ่งครอบคลุมสถิติที่เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลสำหรับการวางแผนการคัดกรองและรักษาในระยะยาวต่อไป
ด้านการให้บริการและการรักษา
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยจำเป็นต้องพัฒนาการรักษาให้มีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางมากขึ้น โดยปัจจุบันประเทศไทยมีคะแนนด้านนี้อยู่ในลำดับที่ 10 ร่วมกับ อินเดีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม โดยเน้นด้านการทำนโยบายที่ครอบคลุมถึงการติดตามผลระยะยาว การพักฟื้น และการทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการยกระดับประสิทธิภาพให้แก่เครื่องมือทางรังสีวิทยา และเพิ่มจำนวนรังสีแพทย์ด้านมะเร็งวิทยา และบุคลากรสุขภาพด้านอื่น ๆ
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังไม่มีมาตรการเพิ่มเติมสำหรับการตรวจคัดกรองแต่เนิ่น ๆ ทำให้บางครั้งผู้ป่วยพบว่าตนเองเป็นโรคมะเร็งเมื่อโรคลุกลามไปมากแล้ว ซึ่งในรายงานได้แนะนำว่า ประเทศไทยควรมีการให้บริการตรวจคัดกรองมะเร็งเบื้องต้น เช่น การตรวจแมมโมแกรม และการตรวจหาเม็ดเลือดแดงในอุจจาระ ตั้งแต่ในระดับสถานีอนามัย และสร้างความตระหนักด้านการคัดกรองและวิธีการรักษาให้ประชาชนในทั่วทุกพื้นที่เห็นความสำคัญของเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น
ด้านระบบสุขภาพและการสนับสนุนจากรัฐบาล
หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทยได้รับคำชม และเป็นแบบอย่างให้นานาประเทศในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในแง่ของการลดค่าใช้จ่ายเพื่อสุขภาพ ลดอัตราการเสียชีวิตในเด็ก ทั้งยังเพิ่มขั้นตอนการรักษาด้วยยาต้านไวรัสและการบำบัดทดแทนไต ทั้งยังลดอุปสรรคในการทำงานเนื่องจากอาการเจ็บป่วย
ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง แต่กลับมีมาตรการการดูแลประชาชนได้อย่างทั่วถึง แม้มีทรัพยากรจำกัด และมีคุณภาพเทียบเท่ากับประเทศในกลุ่มที่มีรายได้สูง
นายฟาริด บิดโกลิ ผู้จัดการทั่วไปบริษัท โรช ไทยแลนด์ พม่า กัมพูชา และลาว กล่าวว่า “สิ่งที่เราควรให้ความสำคัญเพื่อให้ประเทศไทยมีความพร้อมมากยิ่งขึ้นในการรับมือโรคมะเร็ง คือ การสร้างระบบทะเบียนมะเร็งระดับประชากร การกำหนดงบประมาณและค่าใช้จ่ายเพื่อพัฒนาระบบสาธารณสุข เพื่อลดช่องว่างให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพ และคำนึงถึงความต้องการของผู้ป่วยเป็นสำคัญ โดยปัญหาที่ได้ถูกพูดถึงในรายงานนี้ จำเป็นต้องอาศัยการร่วมมือกันของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์ที่ไม่ปกติเช่นนี้ ที่ส่งผลให้งบประมาณด้านสาธารณสุขและการบริการด้านการแพทย์มีค่อนข้างจำกัด”
“โรชมีความตั้งใจที่จะร่วมมือกับรัฐบาลไทย และหน่วยงานด้านสาธารณสุข ในการมุ่งพัฒนานโยบาย รวมไปถึงโครงการทางการแพทย์ เพื่อให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งสามารถเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพและได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดอย่างยั่งยืน” นายฟาริด กล่าวปิดท้าย
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายงาน ความพร้อมเพื่อรับมือกับโรคมะเร็ง ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก: การขับเคลื่อนสู่มาตรการควบคุมโรคมะเร็งฉบับสากล ได้ที่
อ้างอิง
Ferlay J, Ervik M, Lam F, Colombet M, Mery L, Piñeros M, Znaor A, Soerjomataram I, Bray F (2018). Global Cancer Observatory: Cancer Today. Lyon, France: International Agency for Research on Cancer. Available from:
This website contains information on products which is targeted to a wide range of audiences and could contain product details or information otherwise not accessible or valid in your country. Please be aware that we do not take any responsibility for accessing such information which may not comply with any legal process, regulation, registration or usage in the country of your origin. which is targeted to a wide range of audiences and could contain product details or information otherwise not accessible or valid