ปัจจุบันโรคมะเร็งถือเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของประชากรทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย จากสถิติขององค์การอนามัยโลกในปี พ.ศ. 2561 คาดการณ์ว่ามีจำนวนผู้ป่วยทั่วโลกที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งประมาณ 18 ล้านคน และเสียชีวิตจากโรคมะเร็งประมาณ 9.6 ล้านคน หรือกล่าวได้ว่า 1 ใน 6 รายของการเสียชีวิตเกิดจากโรคมะเร็ง
สถานการณ์ของโรคมะเร็งในภาพรวมของประเทศไทย จากสถิติพบว่าโรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 คิดเป็นร้อยละ 16 ของเหตุการเสียชีวิตทั้งหมด สูงกว่าอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ และโรคหัวใจเฉลี่ย 2 ถึง 3 เท่า หรือมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งเฉลี่ย 8 รายต่อชั่วโมง ในปี พ.ศ. 2561 พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ โดยประมาณอยู่ที่ 170,495 ราย และเสียชีวิตจากโรคมะเร็งประมาณ 114,199 ราย สำหรับ 5 อันดับแรกของมะเร็งที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่ มะเร็งปอด มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ และ มะเร็งถุงน้ำดี โดยโรคมะเร็งที่ทำให้เสียชีวิตมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด มะเร็งถุงน้ำดี มะเร็งเต้านม และมะเร็งลำไส้ใหญ่ ตามลำดับ
ในปัจจุบันโรคมะเร็งส่วนมากยังไม่มีวิธีการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ ประเทศที่มีรายได้ต่อประชากรน้อย เช่น ในกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การเข้าถึงการป้องกัน การวินิจฉัย การรักษาโรค และการดูแลมะเร็งระยะสุดท้ายจะเป็นปัญหาที่สำคัญต่อผู้ป่วยและประเทศ โรคมะเร็งมักจะถูกพบในระยะที่ 3 และ 4 มากกว่าร้อยละ 50 ทำให้โอกาสที่จะเสียชีวิตจากโรคมะเร็งสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศทางตะวันตก การควบคุมและลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งจึงเป็นปัญหาที่มีความท้าทายอย่างสูง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีแผนบูรณาการ และต้องการความร่วมมือทุกภาคส่วนทั้ง ภาควิชาการ รัฐบาล และประชาชน เพื่อที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ
หยุดสูบบุหรี่หรือหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดผู้ที่สูบบุหรี่ เนื่องจากบุหรี่เป็นสาเหตุของมะเร็งปอดถึงร้อยละ 80 – 90 การสูบบุหรี่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์หลอดลม ทำให้เกิดการกลายพันธุ์เป็นเซลล์มะเร็งได้
หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ที่มีมลภาวะมาก เช่น การทำงานในที่ที่มีฝุ่นควันมาก หรือเหมืองแร่โดยไม่ใช้เครื่องมือป้องกันตนเอง การสัมผัสสารแอสเบสตอสหรือแร่ใยหิน ซึ่งใช้ในวงการอุตสาหกรรมรถยนต์ ฉนวนกันความร้อน การก่อสร้าง โครงสร้างอาคาร ผ้าเบรค คลัช และอุตสาหกรรมสิ่งทอ และควรหลีกเลี่ยงฝุ่นขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอนหรือ PM2.5 โดยสวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่อต้องออกไปภายนอกอาคาร ซึ่ง PM2.5 ก็อาจส่งผลเพิ่มความเสี่ยงการเป็นมะเร็งได้เช่นกัน แม้จะยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการสนับสนุนอย่างชัดเจน
อยู่ในที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์
หมั่นตรวจร่างกายเป็นประจำสม่ำเสมอ
ออกกำลังกายและรับประทานอาหารที่มีประโยชน์เพื่อให้ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงอยู่เสมอ
การได้รับการฉายรังสีบริเวณปอด และรังสีเรดอน ซึ่งเป็นก๊าซกัมมันตรังสี ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส เกิดจากการสลายตัวของแร่ยูเรเนียมในใยหินกระจายอยู่ในอากาศและน้ำใต้ดินในที่ที่อากาศไม่ถ่ายเท ซึ่งหากได้รับในปริมาณมากก็อาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดได้
ผู้ที่เคยมีรอยแผลเป็นของโรคที่ปอด เช่น เคยเป็นวัณโรคปอด หรือผู้ที่ป่วยเป็นโรคถุงลมโป่งพอง จะมีโอกาสเกิดมะเร็งปอดสูงกว่าบุคคลทั่วไป
ปัจจัยอื่นๆ เช่น อายุที่มากขึ้น การใช้สารเสพติดบางประเภท เช่น กัญชาและโคเคน ภาวะขาดวิตามินเอ อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งปอดด้วย ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างกรรมพันธุ์กับการเกิดมะเร็งปอดยังไม่มีความชัดเจนนัก
อาการของระบบทางเดินหายใจ ได้แก่
- อาการไอเรื้อรัง อาจมีหรือไม่มีเสมหะก็ได้
- อาการไอเป็นเลือด
- หอบเหนื่อย หายใจลำบากเนื่องจากก้อนมะเร็งโตขึ้น ทำให้เนื้อที่ปอดสำหรับหายใจเหลือน้อยลง หรือก้อนมะเร็งนั้นกดเบียดหลอดลม
- เจ็บหน้าอกเวลาหายใจ
- ปอดอักเสบ มีไข้
แต่อาการเหล่านี้ อาจเกิดจากโรคอื่นๆ ของปอดได้เช่นกัน จึงไม่ใช่อาการของมะเร็งปอดเสมอไป
อาการของระบบอื่นๆ ได้แก่
- เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
- บวมที่หน้า แขน คอ และทรวงอกส่วนบนเนื่องจากมีเลือดดำคั่ง
- เสียงแหบเพราะมะเร็งลุกลามไปยังเส้นประสาทบริเวณกล่องเสียง
- ปวดกระดูก
- กลืนลำบากเนื่องจากก้อนมะเร็งกดเบียดหลอดอาหาร
- อัมพาตเนื่องจากมะเร็งแพร่กระจายไปยังสมองหรือไขสันหลัง
- มีตุ่มหรือก้อนขึ้นตามผิวหนัง
ซึ่งอาการเหล่านี้ก็ไม่จำเพาะต่อโรคมะเร็งปอดเช่นกัน ผู้ที่มีอาการดังกล่าวข้างต้นควรได้รับการตรวจจากแพทย์
โรคมะเร็งปอดอาจตรวจพบได้จากการถ่ายภาพรังสีทรวงอกและการทำซีทีสแกน การยืนยันการวินิจฉัยทำโดยการตัดชิ้นเนื้อปอดออกมาตรวจ การตัดชิ้นเนื้อปอดส่วนใหญ่ทำโดยส่องกล้องหลอดลมเพื่อเก็บชิ้นเนื้อหรือการเจาะชิ้นเนื้อโดยใช้ผลตรวจซีทีช่วยนำทาง
การตัดชิ้นเนื้อเพื่อวิเคราะห์ (biopsy)
การใช้เข็มขนาดเล็กตัดชิ้นเนื้อ (fine-needle aspiration)
การส่องกล้องตรวจภายในหลอดลม (bronchoscopy)
การใช้เข็มเจาะช่องเยื่อหุ้มปอดแทงผ่านผนังทรวงอก (thoracentesis)
การตรวจช่องกลางทรวงอกโดยการส่องกล้อง (mediastinoscopy)
การตรวจช่องทรวงอกโดยการส่องกล้อง (thorocoscopy)
การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) และการตรวจโดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI): เป็นวิธีที่ช่วยให้แพทย์หาตำแหน่งและขนาดของก้อนเนื้อที่ผิดปกติในบริเวณปอดได้
การตรวจด้วยเครื่อง PET scan (positron emission tomography scan): เป็นการฉีดโมเลกุลของสารกัมมันตภาพรังสีที่รวมกับน้ำตาลเข้าทางเส้นเลือด เซลล์มะเร็งปอดจะดูดซึมเอาน้ำตาลชนิดนี้ไว้อย่างรวดเร็วและมากกว่าเซลล์ปกติ ทำให้เกิดความแตกต่างของการเรืองแสงเฉพาะเซลล์มะเร็ง
ชนิดของมะเร็งที่เป็นมะเร็งชนิดเซลล์ไม่เล็ก มีการพยาการณ์โรคโดยรวมดีกว่ามะเร็งชนิดเซลล์เล็กโดยผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะแรกจะมีโอกาสหายขาดมากกว่า และมีอัตราการรอดชีวิตสูงกว่าผู้ป่วยระยะหลังหรือระยะแพร่กระจาย
ความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกายผู้ป่วย ผู้ป่วยที่ไม่มีโรคประจำตัวรุนแรง ผู้ป่วยที่ไม่มีภาวะน้ำหนักตัวลดลงผิดปกติ มักมีผลการรักษาที่ดีกว่าผู้ที่ร่างกายไม่สมบูรณ์
การรักษาที่ผู้ป่วยได้รับการเลือกการรักษาที่ถูกต้องตั้งแต่เริ่มแรก มีความสำคัญในการพยากรณ์ผลการรักษาของโรคด้วย โดยทั่วไปแพทย์สามารถทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้นได้ แม้ว่าในบางครั้งอาจจะไม่สามารถช่วยให้หายขาดจากโรคได้ก็ตาม
มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (Small cell lung cancer)
มะเร็งชนิดนี้พบประมาณร้อยละ 10-25 ของมะเร็งทั้งหมด ส่วนใหญ่พบบริเวณใกล้ขั้วปอดมากกว่าบริเวณชายปอด เป็นชนิดมะเร็งที่แพร่กระจายเร็วและอาจสร้างสารเคมีบางอย่าง ทำให้เกิดการผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อ (ฮอร์โมน) ในร่างกายได้ มะเร็งชนิดนี้มักตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดและรังสีรักษาได้ดี
มะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็ก (Non-small cell lung cancer)
มะเร็งชนิดนี้พบประมาณร้อยละ 75-90 ขอมะเร็งปอดทั้งหมด มักมีการดำเนินโรคที่ช้ากว่า มีโอกาสตรวจพบโรคในระยะต้นได้มากกว่ามะเร็งปอดชนิดเล็ก ถ้าพบในระยะแรก การรักษาหลักคือการผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งและต่อมน้ำเหลืองออก บางรายอาจให้การรักษาร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัดหรือใช้รังสีรักษาอาการแสดงเบื้องต้นของคนที่มีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งปอด
ผ่าตัด (Surgery) ใช้สำหรับการรักษามะเร็งในระยะแรกที่ยังไม่มีการแพร่กระจาย ขนาดก้อนที่ไม่ใหญ่เกินไป จะมีการกระจายไปต่อมน้ำเหลืองใกล้ๆ และไม่มีการยึดติดกับอวัยวะสำคัญต่างๆ เนื่องจากเป็นวิธีการที่ทำให้ผู้ป่วยหายขาดจากโรคได้
ฉายรังสี (Radiology) เป็นวิธีการรักษาเฉพาะที่เช่นเดียวกับการผ่าตัด เหมาะสำหรับ
a. ผู้ป่วยระยะแรกที่ไม่สามารถเข้ารับการผ่าตัดได้
b. ผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะลุกลามเฉพาะที่ โดยใช้ร่วยกับยาเคมีบำบัด ซึ่งเป็นการรักษาเพื่อหวังผลหายขาด
c. ใช้เป็นการรักษาเสริมหลังการผ่าตัดในผู้ป่วยระยะที่ 3 ที่มีข้อบ่งชี้เพื่อเพิ่มผลการควบคุมโรคที่ดี
d. ใช้เป็นการรักษาประคับประคอง บรรเทาอาการปวดกระดูก บรรเทาอาการในกรณีที่มะเร็งมีการกระจายไปยังสมอง
e. ใช้เป็นการรักษาป้องกัน เช่น การฉายรังสีที่ศีรษะ เพื่อป้องกันโรคกระจายมาที่สมอง
ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) เป็นการให้ยาที่สามารถทำลายเซลล์มะเร็ง โดยการฉีดหรือผสมสารละลายหยดเข้าไปทางหลอดเลือด ซึ่งตัวยาจะผ่านเข้าไปในระบบไหลเวียนเลือดและเข้าสู่เซลล์มะเร็งทางเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงก้อนมะเร็ง
ยามุ่งเป้า (Targeted therapy) เป็นวิธีการรักษามะเร็งโดยมีเป้าหมายเพื่อยับยั้งโปรตีนซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการควบคุมกลไกการเกิดมะเร็ง โดยวิธีการให้ยารับประทาน มีผลข้างเคียงน้อยและได้ผลดีในผู้ป่วยที่ได้รับการตอบสนองต่อการรักษา มักใช้เป็นการรักษาสำรอง เมื่อล้มเหลวจากการให้ยาเคมีบำบัด
ภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) การผสมยากับสารละลายแล้วหยดเข้าไปทางหลอดเลือด หวังผลเพื่อกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายให้สามารถกลับมาทำงานได้เป็นปกติ มีผลข้างเคียงน้อยกว่าการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด มักใช้เป็นการรักษาสำรอง เมื่อล้มเหลวจากการให้ยาเคมีบำบัด
สิ่งสำคัญที่ต้องทราบคือ การเลือกยาในการรักษามะเร็งนั้น อาจมีความแตกต่างกันในคนไข้แต่ละคน เพราะถึงแม้ว่าคนไข้จะเป็นมะเร็งชนิดเดียวกันแต่ลักษณะการกลายพันธุ์ของเซลล์มะเร็งอาจมีความแตกต่างกัน
ดังนั้นการตรวจหาการกลายพันธุ์ในเซลล์มะเร็งของคนไข้ด้วยการตรวจยีนมะเร็งอย่างครอบคลุม (Comprehensive Genomic Profiling) จะช่วยให้แพทย์และคนไข้สามารถร่วมกันวางแผนการรักษาและเลือกยาที่เหมาะสมที่สุดกับคนไข้ได้อย่างเหมาะสม
Reference
ทำความรู้จักกับมะเร็งปอด (Lung Cancer), โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ http://www.siphhospital.com/th/news/article/share/621/Lungcancer
มะเร็งปอด,
มะเร็ง สาเหตุการตายอันดับ 1 ของคนไทยมากว่า 20 ปี,
คณะแพทยศาสตร์ 4 สถาบันเสนอนโยบายสู้มะเร็งที่ถูกต้องลดการเสียชีวิต,
อัตราการตายโรคมะเร็งปอด,
5 วิธีการรักษามะเร็ง, http://www.siphhospital.com/th/news/article/share/231
Heim D et al. Int J Cancer 2014; 135: 2362–2369
Baumgart M et al. Am J Hematol Oncol 2015: 11: 10–13
Schwaederle M, Kurzrock R. Oncoscience 2015; 2: 779–780.
M-TH-00002015
This website contains information on products which is targeted to a wide range of audiences and could contain product details or information otherwise not accessible or valid in your country. Please be aware that we do not take any responsibility for accessing such information which may not comply with any legal process, regulation, registration or usage in the country of your origin. which is targeted to a wide range of audiences and could contain product details or information otherwise not accessible or valid