กรุงเทพฯ ประเทศไทย – สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก่อให้เกิดผ ลกระทบต่อสังคมทั้งทางด้านทรัพยากรการรักษาและขีดความสามารถของบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งนี้การรักษาผู้ป่วยให้หายจากโรคและออกจากโรงพยาบาลได้เร็วขึ้น เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยลดภาระเตียงเต็มที่ประเทศไทยเผชิญวิกฤตอยู่ในขณะนี้
ยาแอนติบอดี ค็อกเทล (Antibody Cocktail) ที่จัดอยู่ในกลุ่มยาภูมิคุ้มกันลบล้างฤทธิ์ “Neutralizing Monoclonal Antibodies” (NmAbs) ซึ่งได้รับการอนุมัติใช้แบบมีเงื่อนไขภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย.) ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา จึงเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกในการใช้รักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในรายที่เหมาะสมตามการพิจารณาของแพทย์ ซึ่งมีข้อมูลจากผลการทดลองทางคลินิกและข้อมูลการใช้จริงในสหรัฐอเมริกาที่ช่วยลดระยะเวลาการเข้ารักษาในโรงพยาบาลได้
ศ. นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับกลุ่มยาภูมิคุ้มกันลบล้างฤทธิ์ อย่างเช่น แอนติบอดี ค็อกเทลว่า “ยาแอนติบอดี ค็อกเทลเป็นแอนติบอดีชนิดโมโนโคลนอล (monoclonal) สองชนิดที่ใช้ควบคู่กัน โดยวิธีหยดยาเข้าทางหลอดเลือดดำในครั้งเดียว (single intravenous infusion) โดยยาดังกล่าวประกอบด้วย แอนติบอดีที่สกัดจากหนู VelocImmune® ซึ่งถูกดัดแปลงพันธุกรรมให้มีระบบภูมิคุ้มกันอย่างมนุษย์ และแอนติบอดีที่สกัดจากผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งรักษาหายแล้ว โดยกลไกการทำงานของยาแอนติบอดี ค็อกเทล สามารถตรงเข้าจับกับตัวรับบนโปรตีนรูปเดือยบนผิวของไวรัส SAR-CoV-2 ได้แน่นและเฉพาะเจาะจง ทำให้ไวรัสอ่อนกำลังลงและยับยั้งการติดเชื้อภายในร่างกายมนุษย์ได้”
“ยาแตกต่างจากวัคซีน ตรงที่วัคซีนใช้สำหรับป้องกันบุคคลทั่วไปก่อนที่จะไปสัมผัสหรือรับเชื้อ (pre-exposure prophylaxis) ในขณะที่กลุ่มยาภูมิคุ้มกันลบล้างฤทธิ์ ซึ่งรวมถึงยาแอนติบอดี ค็อกเทล มีคำแนะนำการใช้ในกลุ่มที่ได้รับการยืนยันแล้วว่าติดเชื้อและมีอาการอยู่ในระดับน้อยถึงปานกลาง ซึ่งไม่ต้องได้รับออกซิเจนเสริม รวมทั้งเป็นผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงสูงต่อการลุกลามไปสู่ระดับรุนแรง” ศ.นพ.มานพ กล่าวเสริม
จากผลการทดลองทางคลินิกระยะสาม1 เกี่ยวกับการใช้แอนติบอดี ค็อกเทลเพื่อรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ศ. พญ.ศศิโสภิณ เกียรติบูรณากุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า “มีผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-19 เข้าร่วมมากกว่า 4,000 คน โดยแต่ละคนแสดงอาการของโรคโควิด-19 มาไม่เกิน 7 วัน และอาการอยู่ในระดับน้อยถึงปานกลาง โดยไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมการวิจัยจะต้องไม่เคยได้รับยารักษาโควิด-19 มาก่อน ผลการศึกษาจากงานวิจัยดังกล่าวพบว่ายาแอนติบอดี ค็อกเทล 1,200 มก.สามารถช่วยลดปริมาณเชื้อไวรัสในกระแสเลือดลงได้ ช่วยลดความเสี่ยงที่โรคโควิด-19 จะลุกลามไปสู่ระดับรุนแรงได้ 70% และยังสามารถช่วยลดระยะเวลาความเจ็บป่วยจากโควิด-19 ลงได้ถึง 4 วัน ส่วนในแง่ความปลอดภัย พบว่าผู้ป่วยโควิด-19 ที่ ได้รับยาแอนติบอดี ค็อกเทล ยังมีโอกาสพบอาการข้างเคียงทั่วไปที่เจอได้ในยาฉีด เช่น ปฏิกิริยาการแพ้แบบรุนแรงและเฉียบพลัน (Anaphylaxis) หรือภาวะภูมิไวเกิน (Hypersensitivity)”
โดยผลการทดสอบจากสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ (National Institutes of Health - NIH)1 ระบุว่ายาแอนติบอดี ค็อกเทลมีความไวต่อสายพันธุ์ต่าง ๆ ของเชื้อไวรัสโควิด-19 เช่น เบตา (Beta) อัลฟา (Alpha) แกมมา (Gamma) เดลตา (Delta) แต่ยังไม่มีผลการทดลองในมนุษย์ (in vivo)
นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ รองผู้อำนวยการสถาบันบำราศนราดูร ได้กล่าวถึงการที่สถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ (National Institutes of Health - NIH)1]และสมาคมโรคติดเชื้อแห่งอเมริกา (Infectious Diseases Society of America - IDSA)[2] ต่างก็ประกาศข้อแนะนำการใช้กลุ่มยาภูมิคุ้มกันลบล้างฤทธิ์อย่างมีเงื่อนไขภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน (Emergency Use Authorization - EUA) เพื่อให้ใช้เป็นยารักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการระดับน้อยถึงปานกลาง และผู้ป่วยโควิด-19ที่มีความเสี่ยงสูงที่โรคจะดำเนินไปสู่ระดับรุนแรง นอกจากนี้ ข้อมูลการใช้จริง (real world evidence)1 2 ซึ่งครอบคลุมประชากรในหลายมลรัฐของอเมริกา ไม่ว่าจะเป็น ฟลอริดา จอร์เจีย เซาเทิร์นมินนิโซตา ไอโอวา วิสคอนซิล หรือแอริโซนา ความว่า “ภายใน 30 วันหลังผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีความเสี่ยงสูงได้รับกลุ่มยาภูมิคุ้มกันลบล้างฤทธิ์ ผู้ป่วยมีแนวโน้มลดลงที่จะต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล และ/หรือ เข้าห้องฉุกเฉินเมื่อเทียบกับกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่ได้รับยา อีกทั้ง กลุ่มยาดังกล่าวยังมีส่วนช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้มากกว่ากลุ่มเปรียบเทียบอีกด้วย” ดังนั้น ยาแอนติบอดี ค็อกเทล สามารถเป็นตัวเลือกทางการรักษา เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบต่าง ๆ ท่ามกลางวิกฤติโรคระบาด หากนำไปใช้ให้ตรงตามข้อบ่งใช้จะสามารถช่วยลดผลกระทบของอาการ และการติดเชื้อสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้อาการของโรครุนแรง เพื่อขยายโอกาสในการเข้าถึงแพทย์และการดูแลที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น ว่าด้วยระยะเวลารักษาตัวในโรงพยาบาลที่สั้นลงสำหรับผู้ป่วย
“เมื่อเริ่มมีการใช้จริงในประเทศไทยในกลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการและปัจจัยเสี่ยงสอดคล้องกับคำแนะนำการใช้ยา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพของประชาชนจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาและติดตามผลลัพธ์การักษาอย่างใกล้ชิดเพื่อประเมินความเหมาะสม และแนวทางการรักษาต่อไปในอนาคต” นพ.วีรวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย
M-TH-00001301
การอ้างอิง:
Piccicacco N et al. Open Forum Infectious Diseases, Volume 8, Issue 7, July 2021, ofab292,
Anderson B. et al Open Forum Infect Dis. 2021 Jul; 8(7): ofab315.Published online 2021 Jun 12. doi: 10.1093/ofid/ofab315
Verderese JP et al. Published by Oxford University Press for the Infectious Diseases Society of America.
This website contains information on products which is targeted to a wide range of audiences and could contain product details or information otherwise not accessible or valid in your country. Please be aware that we do not take any responsibility for accessing such information which may not comply with any legal process, regulation, registration or usage in the country of your origin. which is targeted to a wide range of audiences and could contain product details or information otherwise not accessible or valid