จับตาอนาคตแห่งการดูแลสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคล

English version

กรุงเทพฯ ประเทศไทย: ในอดีต ผู้ป่วยทุกรายที่ป่วยด้วยโรคชนิดเดียวกันจะต้องผ่านขั้นตอนการตรวจคัดกรอง วินิจฉัยและรักษาตามอาการบนมาตรฐานเดียวกัน (One-size-fits-all approach) อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้าทางการแพทย์ได้นำเสนอนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่มีส่วนปฏิวัติแนวทางการดูแลสุขภาพ ขยายทางเลือกการรักษาและยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วย โดยหนึ่งในความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่ก่อให้เกิดความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญคงหนีไม่พ้น การดูแลสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคล

วันนี้ เราจะมาทำความรู้จักและเจาะลึกเกี่ยวกับความสำคัญของการดูแลสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคล และจะดีแค่ไหนหากประเทศไทยสามารถก้าวสู่การดูแลสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคลได้อย่างเต็มรูปแบบในอนาคต

การดูแลสุขภาพรักษาแบบจำเพาะบุคคล หรือ Personalised Healthcare เกิดจากการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีมาขับเคลื่อนการพัฒนาความรู้ทางพันธุกรรมและการเจาะลึกความหลากหลายของโรคชนิดต่าง ๆ ด้วยแนวคิดที่เน้นการเก็บข้อมูลจากพื้นฐานทางสุขภาพและประวัติการรักษาของผู้ป่วยมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการวิเคราะห์ข้อมูลทางพันธุกรรม จนค้นพบว่าถึงแม้ผู้ป่วยแต่ละรายจะป่วยจากโรคชนิดเดียวกันและแสดงอาการเหมือนกัน ก็อาจมีสาเหตุของโรคต่างกัน ดังนั้นการใช้แนวทางการดูแลสุขภาพและการรักษาที่สอดคล้องกับข้อมูลส่วนตัวของผู้ป่วยแต่ละรายจึงนับเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก เพราะร่างกายของแต่ละคนล้วนมีความต่างด้านพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม และการใช้ชีวิต เมื่อนำปัจจัยเหล่านี้มาประกอบการพิจารณา แพทย์จึงสามารถพยากรณ์ความเสี่ยงการเกิดโรคบางชนิดในอนาคต วินิจฉัยโรคได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น ทั้งยังสามารถเลือกแนวทางการรักษาที่ตอบโจทย์ความแตกต่างของผู้ป่วยแต่ละคนได้อย่างตรงจุด

ด้วยคำนึงถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคล  จึงเกิดการรวบรวมข้อมูลเพื่อจัดอันดับความพร้อมของประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจำนวน 11 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย เพื่อเร่งพัฒนาการรักษาแบบจำเพาะบุคคลให้กลายเป็นแนวทางพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้ โดยดัชนีประเมินความพร้อมการดูแลสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคล (Asia-Pacific Personalised Health Index) ยังสามารถใช้เป็นแนวทางประกอบการกำหนดนโยบายเพื่อกระตุ้นให้ภาครัฐและเอกชนนำไปต่อยอดให้เกิดขึ้นจริงในอนาคต

ข้อมูลจากดัชนีประเมินความพร้อมของการดูแลสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคล พบว่า ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในกลุ่ม “Focus Area Country” ร่วมกับมาเลเซีย จีน และอินเดีย ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่อยู่ในขั้นเริ่มต้นของการนำแนวทางการดูแลสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคลมาปรับใช้ ทั้งนี้ดัชนีดังกล่าวใช้เกณฑ์พิจารณาความพร้อมออกเป็น 4 ด้านหลัก ได้แก่ (1) ด้านนโยบาย (2) ด้านข้อมูล (3) ด้านบริการ และ (4) ด้านเทคโนโลยี โดยภาพรวมประเทศไทยมีความพร้อมอยู่ในลำดับที่ 7 จากเมื่อเทียบประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 11 ประเทศ หากจำแนกตามความพร้อมในแต่ละด้านนั้น ประเทศไทยจะอยู่ลำดับที่ 7 ด้านนโยบาย, ที่ 5 ด้านข้อมูล, ที่ 6 ด้านบริการ และอยู่อันดับรั้งท้ายด้านเทคโนโลยี

  1. ด้านนโยบาย – เป็นปัจจัยช่วยส่งเสริมกลยุทธ์ ผลักดันงบประมาณจากรัฐ ช่วยเหลือทีมแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัย เพิ่มการเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกและแนวทางรักษา รวมถึงลดช่องว่างทางสังคมที่ส่งผลต่อการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วย เพื่อสร้างความเท่าเทียมในสิทธิการดูแลสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคล

  2. ด้านข้อมูล – ชี้วัดศักยภาพทางด้านการบริหารและการจัดเก็บฐานข้อมูลของผู้ป่วย การบันทึกข้อมูลสุขภาพแบบอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Health Records: EHRs) การรวบรวมสถิติและจัดการข้อมูลด้านสุขภาพต่างๆ เช่น การลงทะเบียนฐานข้อมูลผู้ป่วยโรคมะเร็ง และการอำนวยสิทธิการเข้าถึงข้อมูลของผู้ป่วยอย่างทั่วถึงและครอบคลุม

  3. ด้านบริการ – ส่งเสริมการให้บริการทางสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นด้านงบประมาณเพื่อการวิจัยและพัฒนา โอกาสการเข้าถึงการรักษาที่โรงพยาบาล การดูแลรักษาทางไกล (Telemedicine) การได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องและทันท่วงที การลงทะเบียนผู้ป่วย และการได้รับคำแนะนำตามอาการของโรคแบบจำเพาะบุคคล

  4. ด้านเทคโนโลยี – เน้นการใช้งานอุปกรณ์อัจฉริยะสำหรับสวมใส่ แอปพลิเคชัน แพลตฟอร์ม และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เข้ามาสนับสนุนการรักษาแบบเฉพาะบุคคล ซึ่งประเทศไทยควรเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีเหล่านี้เพื่อพัฒนาให้มีความก้าวหน้าต่อไป

นอกจากความพร้อมทั้ง 4 ด้านหลักแล้ว หากเจาะลึกลงไปจะพบว่า ในแง่กลยุทธ์ด้านการดูแลสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคล (Personalised Health Strategy) ประเทศไทยครองอันดับ 1 ร่วมกับประเทศไต้หวัน อย่างไรก็ตาม ในด้านนโยบาย ประเทศไทยยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องพัฒนา เช่น เรื่องการเลื่อนสถานะทางสังคม (Social Mobility) ซึ่งประเทศไทยยังอยู่ในอันดับที่ 8 และยังต้องการการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากสุขภาพที่ดีของประชาชนแปรผันตามปัจจัยทางสังคม เช่น แหล่งที่อยู่อาศัย การประกอบอาชีพ และความสมบูรณ์ทางโภชนาการ ส่วนด้านการบริการ โดยเฉพาะงบประมาณเพื่อการวิจัยและพัฒนา (R&D Expenditure) ของการรักษาแบบจำเพาะบุคคล ความพร้อมของประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 9 เป็นต้น ดังนั้น ผลการศึกษาจากดัชนีดังกล่าวจึงเป็นแนวทางชี้ให้เห็นจุดแข็ง จุดอ่อน รวมถึงเสนอแนวทางปรับปรุงและพัฒนาการเข้าถึงการดูและสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคล เพื่อให้ประเทศไทยมีความพร้อมมากยิ่งขึ้น

การรักษาแบบจำเพาะบุคคลจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อสังคมไทยในอนาคต โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือโรคมะเร็ง ซึ่งคร่าคนไทยเป็นอันดับต้นๆ มาต่อเนื่องหลายปี ในด้านมุมมองของผู้ป่วย คุณศิรินทิพย์ ขัติยะกาญจน์ ประธานมูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง ได้เผยถึงการดูแลสุขภาพแบบจำเพาะบุคคลผ่านมุมมองของอดีตผู้ป่วยมะเร็งว่า “มะเร็งเป็นโรคที่ซับซ้อนและแทรกซ้อน กล่าวคือ เป็นโรคที่รักษายากและมีโอกาสเกิดการติดเชื้ออื่นร่วมด้วย ทำให้เมื่อผู้ป่วยได้รับการรักษาแบบเดียวกันจากแพทย์ก็ไม่ได้แปลว่าแต่ละคนจะตอบสนองต่อรักษาเหมือนกันเสมอไป ในทางกลับกัน แนวทางการดูแลสุขภาพแบบจำเพาะบุคคลช่วยให้แพทย์วางแผนการรักษาให้เหมาะสมกับลักษณะของโรคและสภาพร่างกายของผู้ป่วยเฉพาะคน ส่งผลให้ขั้นตอนการรักษากินเวลาสั้นลง ประหยัดค่าใช้จ่าย ลดโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากยา ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงกับปกติในที่สุด”

สำหรับในประเทศไทยนั้น แม้ผู้ป่วยมะเร็งส่วนใหญ่จะมาพบแพทย์เมื่อโรคลุกลามหรือแพร่กระจายแล้ว แต่ด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์ทำให้สามารถตรวจยีนที่เป็นต้นเหตุการเกิดมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม ได้อย่างครอบคลุมคราวละหลายร้อยยีนในการตรวจเพียงครั้งเดียว ช่วยให้ผู้ป่วยแต่ละคนได้รับแนวทางการรักษาที่ตรงจุด ตอบสนองต่อการรักษาดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีระหว่างขั้นตอนการรักษา และมีอัตราการรอดชีวิตสูงขึ้น

ทั้งนี้ ผศ.พญ.เอื้อมแข สุขประเสริฐ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษามะเร็ง ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้กล่าวถึงความท้าทายในการปรับใช้และผลลัพธ์ที่จับต้องได้ของการดูแลสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคลว่า “ประเทศไทยยังมีข้อจำกัดทั้งในแง่ของการตรวจยีน ซึ่งยังตรวจได้เพียงบางชนิด ไม่สามารถตรวจยีนได้พร้อมกัน และในแง่ของการเข้าถึงยามุ่งเป้า ซึ่งทุกวันนี้มีเพิ่มขึ้นหลายชนิด ประสิทธิภาพดีขึ้น ผลข้างเคียงลดลง ดังนั้นความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาการตรวจวิเคราะห์ในระดับโมเลกุล ให้มีความสามารถในการตรวจได้มากขึ้น เข้าถึงได้ทั่วประเทศ และสมควรผลักดันการพัฒนาการตรวจวิเคราะห์ระดับโมเลกุลให้เป็นวาระแห่งชาติ และส่งเสริมงานวิจัยด้านการพัฒนาการตรวจนี้ในโรคมะเร็งซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพสำคัญของประเทศ เพื่อพัฒนาการรักษาให้มีความก้าวหน้า และที่สำคัญคือการช่วยกันผลักดันให้ยามุ่งเป้าที่จำเป็นในโรคมะเร็งที่พบบ่อยในคนไทยให้ถูกบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อประโยชน์ด้านการเข้าถึงยาของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ”

ปัจจุบัน การตรวจยีนแบบครอบคลุม (Comprehensive Genomic Profiling) ยังไม่กลายเป็นมาตรฐานการดูแลสุขภาพในประเทศไทย ทั้งที่การตรวจยีนแบบครอบคลุมนับได้ว่าเป็นก้าวแรกของการรักษาแบบจำเพาะบุคลล ดูเหมือนว่าประเทศไทยยังคงต้องเดินหน้าต่อไปเพื่อพัฒนาการดูแลสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคลให้มีความพร้อมและเข้าถึงได้มากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มศักยภาพของระบบสาธารณสุขและความก้าวหน้าทางการแพทย์ของไทย ช่วยเสริมสร้างสุขภาพที่ดีและยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับคนไทยได้อย่างยั่งยืน

ดาวน์โหลด

ดัชนีประเมินความพร้อมการดูแลสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคล

This website contains information on products which is targeted to a wide range of audiences and could contain product details or information otherwise not accessible or valid in your country. Please be aware that we do not take any responsibility for accessing such information which may not comply with any legal process, regulation, registration or usage in the country of your origin. which is targeted to a wide range of audiences and could contain product details or information otherwise not accessible or valid

ติดต่อสาขาของโรชlinkedinfacebooktwitterinstagramyoutubeเกี่ยวกับโรชหน่วยธุรกิจยาร่วมงานกับเราข่าวสารบทความRoche Privacy PolicyRoche Privacy Notice (HCPs)Roche Privacy Policy for PatientsRoche Privacy Policy for Contract PartiesRoche Privacy & Communication TermsLegal statementCCTV Privacy