ถ้าคุณได้รับคำเชิญชวนหรือเจอประกาศรับอาสาสมัครโดยบังเอิญ บทความนี้เราอยากให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจที่เป็นประโยชน์ และเพื่อความปลอดภัยของคุณ
การวิจัยในคน (Clinical Trial) เป็นโครงการวิจัยที่จะเปิดรับอาสาสมัครที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือก เข้ามารับการรักษา เพื่อที่ทดสอบประสิทธิภาพและผลข้างเคียงจากการรักษา เป็นการเปิดโอกาสให้อาสาสมัครเข้าถึงการรักษาแบบใหม่ แต่อย่างไรก็ตาม การเข้าร่ว มในการวิจัยเองก็ยังมีข้อกำหนดต่าง ๆ ที่เข้มงวดและต้องปฏิบัติตามในระหว่างที่อยู่ในการวิจัยเช่นกัน
โอกาสที่จะได้รับการรักษาและเข้าถึงยาชนิดใหม่ เพื่อให้ได้ข้อมูลประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยาใหม่ ซึ่งมีข้อมูลเบื้องต้นจากการทดลองในสัตว์ทดลอง อาสาสมัครมีโอกาสจะได้รับยาชนิดใหม่หรือการรักษามาตรฐาน โดยปกติแล้ว การเปรียบเทียบยาวิจัยก็จะต้องเปรียบเทียบการการรักษามาตรฐานที่ผ่านการรับรองคณะกรรมการจริยธรรมก่อน ดังนั้น การเข้ารวมการวิจัยจึงมีข้อมูลรองรับในขั้นต้นในเรื่องของความปลอดภัย
ได้รับการตรวจวินิจฉัยและติดตามอย่างครบถ้วนตามที่โครงการวิจัยกำหนด ซึ่งอาจจะมากกว่าการรักษาตามมาตรฐานโดยปกติ โครงร่างการวิจัยจะกำหนดการตรวจโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงผลทางห้องปฏิบัติการและการแสกนร่างกายต่าง ๆ ทำให้ได้รับการติดตามอย่างครอบคลุม รวมถึงการตรวจร่างกายเพื่อป้องกันการเกิดผลข้างเคียงที่จำเพาะต่อยาวิจัยอีกด้วย
ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการรับการรักษา เช่น ค่ายา, ค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการ, และค่าแสกนร่างกาย เนื่องจากทางผู้ให้การสนับสนุนจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมถึงมีค่าเดินทางมารับการรักษาที่โรงพยาบาลอีกด้วย ทำให้อาสาสมัครไม่จำเป็นจะต้องชำระค่าบริการทางการแพทย์ใด ๆ ที่ถูกกำหนดตามโครงการวิจัย ยกเว้นเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวข้องกับโครงการวิจัย ทางอาสาสมัครอาจจะต้องใช้ประกันหรือสิทธิ์การรักษาของตนเอง
อาสาสมัครสามารถที่จะถอนตัวออกจากการวิจัยได้ทุกเมื่อ เมื่อรู้สึกไม่สบายใจหรือไม่อยากที่จะมาเข้ารับการรักษาและตรวจวินิจฉัย อาสาสมัครสามารถแจ้งกับทีมแพทย์ผู้วิจัยได้ทันที รวมถึงแจ้งยกเลิกการนำข้อมูลการรักษาไปใช้ในการวิเคราะห์ผลของการวิจัยได้เช่นกัน
อาสาสมัครได้ช่วยเหลือผู้ป่วยท่านอื่น ๆ ในทางอ้อม เนื่องจากผลการรักษาจะนำไปใช้ในการพัฒนายาใหม่หรือแนวทางการรักษาใหม่ ซึ่งจะทำให้มีข้อมูลทางการแพทย์เพื่อนำไปต่อยอดองค์ความรู้ในอนาคตได้
ไม่ใช่อาสาสมัครทุกคนจะได้เข้ามารับการรักษาในการวิจัย เนื่องจากแต่ละโครงการจะมีเกณฑ์การคัดเลือกอาสาสมัครที่เข้มงวดมาก หากอาสาสมัครที่เข้ามาตกเกณฑ์การคัดเลือกเพียงข้อเดียวก็จะทำให้ไม่สามารถเข้าร่วมได้
จำเป็นจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดที่โครงการวิจัยกำหนด เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงที่สุด เนื่องจากทีมผู้วิจัยยังไม่ทราบถึงความเสี่ยงจากการรักษา จึงจำเป็นจะต้องมีการตรวจที่เยอะกว่าการรักษาปกติ อาจมีการนัดมาโรงพยาบาลทุกสัปดาห์เพื่อดูความปลอดภัยของยาในช่วงเริ่มต้น, รับยาทุก 21 - 28 วัน หรือทำ CT/MRI scan ความถี่ในการมาโรงพยาบาลขึ้นอยู่กับแต่ละโครงการวิจัยกำหนด
ยังไม่ทราบถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการรักษาอย่างชัดเจน กรณีที่ผลการวิจัยพบว่า การรักษาด้วยยาใหม่ไม่ได้ดีกว่าการรักษามาตรฐาน หรือพบผลข้างเคียงที่รุนแรง อาจจะต้องมีการปิดโครงการกะทันหัน แต่ทางทีมผู้วิจัยจะมีแผนสำรองสำหรับการดูแลอาสาสมัครหากเกิดกรณีดังกล่าว
ต้องเสียสละให้นำข้อมูลการรักษาไปใช้ เนื่องจากการวิจัยจะต้องประเมินอาสาสมัครอย่างครบถ้วน ข้อมูลสุขภาพจะถูกนำไปวิเคราะห์อย่างละเอียด เพื่อที่จะทำให้ประเมินผลการรักษาได้
การตัดสินใจเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมเป็นอาสาสมัครในการวิจัยในคน จะไม่ส่งผลใด ๆ ต่อการรักษาโดยแพทย์ผู้วิจัยของท่าน สุดท้ายแล้วอำนาจการตัดสินใจอยู่ที่ตัวผู้ป่วยที่สามารถเลือกได้ว่าต้องการการักษาแบบปกติหรืออยากจะเข้าร่วมโครงการวิจัย
ถ้าเปรียบเทียบระหว่าง “ประโยชน์” และ “ความเสี่ยง” จากการเข้าร่วมการวิจัยในคนแล้วสามารถรับได้ คุณสามารถที่จะแจ้งแก่แพทย์ผู้วิจัยเพื่อสมัครเข้ารับการรักษาตามโครงการวิจัยในคน ทั้งนี้ ความเสียสละของอาสาสมัครนับเป็นส่วนสำคัญที่จะผลักดันความก้าวหน้าทางการแพทย์ พวกเราขอขอบคุณจากใจจริงที่ท่านยอมเสียสละข้อมูลส่วนตัวของท่านเพื่อมวลมนุษยชาติ
M-TH-00001077