ข้อควรรู้ในการเข้าร่วมโครงการวิจัย

การจะเข้าร่วมโครงการวิจัยในคนได้นั้น เริ่มต้นจากโครงการวิจัยจะเปิดรับอาสาสมัครที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกเข้ามาร่วมโครงการ และในขณะเดียวกัน อาสาสมัครหรือผู้ป่วยก็ควรไตร่ตรองประเด็นต่างๆ ต่อไปนี้ ก่อนตัดสินใจเข้าร่วม

  • ยาวิจัยอาจใช้ในคนไม่ได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์ เนื่องจากเป็นการศึกษาในคนครั้งแรก แม้จะมีการทดสอบประสิทธิภาพในหลอดทดลอง (In vitro) และสัตว์ทดลอง (In vivo) มาก่อน ก็ไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะให้ผลกับคนเช่นเดียวกับสัตว์

  • ยาในโครงการวิจัยอาจเป็นยาที่พัฒนาขึ้นใหม่หรือยาที่เพิ่มข้อบ่งใช้ใหม่ ทำให้ข้อมูลด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยยังไม่ชัดเจน จึงอาจพบผลข้างเคียงที่ไม่คาดคิดหรือมีความรุนแรงจนบางครั้งต้องหยุดทำการวิจัยกะทันหัน อย่างไรก็ตาม ทางทีมผู้วิจัยได้เตรียมมาตรการสำหรับการดูแลอาสาสมัครไว้ล่วงหน้าแล้ว ไม่ว่าจะเกิดกรณีดังกล่าวหรือไม่

  • อาสาสมัครจะได้ยาในโครงการวิจัยโดยวิธีการสุ่ม ดังนั้น อาสาสมัครอาจได้รับยาที่มีพัฒนาขึ้นมาใหม่ ยาตามมาตรฐานการรักษาเดิม และ/หรือ ยาหลอก (placebo) เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพกัน ยาหลอกจะถูกนำมาใช้ในการวิจัยก็ต่อเมื่อเป็นการศึกษาในโรคที่ไม่เคยมียารักษามาก่อน เช่น การวิจัยวัคซีนสำหรับโรคอุบัติใหม่ ผู้เข้าร่วมโครงการมีโอกาสไม่ได้รับวัคซีน แต่ไม่ว่าอาสาสมัครจะอยู่ในกลุ่มใดก็ตาม ทุกคนจะได้รับการตรวจเช็คร่างกายเพื่อติดตามอาการต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ

  • อาสาสมัครจะถูกนัดมาที่โรงพยาบาลบ่อยกว่าการรักษาปกติ เพื่อตรวจร่างกาย เจาะเลือด และหัตถการอื่นๆ ตามรายละเอียดในโครงการวิจัยนั้นๆ เพื่อติดตามผลการรักษาทั้งประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยาอย่างใกล้ชิด
     

จะเห็นได้ว่าการเข้าร่วมโครงการวิจัยในคนมีข้อควรรู้ที่อาสาสมัครต้องพิจารณาก่อนตัดสินใจแต่ทั้งหมดจะมีการแจ้งรายละเอียดของการวิจัยให้อาสาสมัครทราบอย่างครบถ้วนก่อนที่จะตัดสินใจเข้าร่วม รวมไปถึงมีการดูแลติดตามอาการอย่างใกล้ชิดตลอดระยะเวลาการศึกษา เพื่อให้อาสาสมัครได้รับประโยชน์สูงสุด

M-TH-00001158

บทความเพิ่มเติม

ดูบทความทั้งหมด